- admin
- No Comments
บทความนี้จะพูดถึง การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self – Esteem ) หรือเรียกอีกอย่าง คือ การนับถือตนเอง ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างเกราะป้องกันให้เด็กมองเห็นส่วนดีของตนเอง พร้อมทั้งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงทางสังคม และการรักษาความหวังในการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคตของเด็ก
ดังนั้น ความสำคัญของการเห็นคุณค่าในตนเอง จึงเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานทางจิตใจของเด็กหรือแม้กระทั่งในวัยผู้ใหญ่เองการมองเห็นคุณค่าในตนเองยังคงมีความสำคัญในการใช้ชีวิตไม่แตกต่างกัน การมองเห็นคุณค่าในตนเองมีส่วนทำให้เด็กสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุข เพราะการเห็นคุณค่าในตนเองเป็นปัจจัยสำคัญของพฤติกรรมที่พัฒนาไปเป็นบุคลิกภาพที่มีแนวคิดเป็นของตนเอง และวิธีการมองรูปแบบความสำเร็จหรือความล้มเหลวในชีวิต ส่วนหนึ่งมาจากการเห็นคุณค่าในตนเองในด้านต่าง ๆ
มีหลากหลายแนวคิดที่ได้นิยาม การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self – Esteem) ที่มีความหมาย และองค์ประกอบที่แตกต่างกันออกไป จึงขอยกตัวอย่างองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองของ Coopersmith (1984) โดยแบ่งออกเป็น 2 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบภายใน ซึ่งเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ที่มีผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง และองค์ประกอบภายนอก คือ การได้รับการเห็นคุณค่าจากสังคม บุคคลรอบตัว เพื่อน และครอบครัว จึงสรุปได้ว่าองค์ประกอบที่ทำให้บุคคลมีการเห็นคุณค่าในตนเองได้นั้น เกิดจากภายในตัวบุคคล และสภาพแวดล้อม สังคมภายนอก
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เรามีผลการศึกษาที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองมาฝากค่ะ ซึ่งจะเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ในการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองให้กับลูกได้ จากผลการศึกษากลยุทธ์ของผู้ปกครองในการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กวัยอนุบาล แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
การสื่อสารอย่างให้เกียรติ และการแสดงความรัก ความใส่ใจ
การกล่าวชมเชยหรือยิ้มให้ลูก การตั้งใจฟังและให้เวลาลูก วิธีนี้เป็นแรงเสริมที่ดี เนื่องจากเป็นวิธีที่ผู้ปกครองสามารถปฏิบัติได้ง่าย และสามารถปฏิบัติได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นวิธีการส่งเสริมให้เด็กได้เห็นถึงคุณค่าในตนเองได้ชัดเจน และเกิดความรู้สึกว่าตนได้รับการยอมรับและเป็นคนสำคัญสำหรับพ่อแม่
ซึ่งรูปแบบการกล่าวชื่นชมนั้นอาจมุ่งเน้นไปที่กระบวนการเรียนรู้มากกว่า และเป็นพฤติกรรมเฉพาะเจาะจง เช่น การชื่นชมในความตั้งใจ และความพยายาม ซึ่งจะช่วยให้ลูกตระหนักเห็นความสำคัญของพฤติกรรม และมองเห็นคุณค่าของตนเองผ่านพฤติกรรมความตั้งใจและพยายามนั้น ๆ
นอกจากนี้ วิธีที่ผู้ปกครองมักใช้ในการแสดงความรัก คือ การให้รางวัล โดยวิธีการให้รางวัลที่เหมาะสม อาจจะให้รางวัลแก่ลูกตามโอกาสพิเศษ หรือเป็นสิ่งของที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ และสนับสนุนให้ลูกได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง จึงจะเป็นแรงเสริมทางบวกที่เหมาะสม
การอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับการใช้ชีวิต และการเป็นตัวแบบของความภาคภูมิใจในตนเอง
อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อแม่คือบุคคลสำคัญในการอบรมสั่งสอนและการเป็นตัวแบบของความภาคภูมิใจในตนเองให้กับลูก เพราะพ่อแม่คือบุคคลใกล้ชิดและเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตร่วมกัน จากการศึกษาพบว่า พ่อแม่ที่ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองให้กับลูก จะเลือกใช้การอบรมสั่งสอนและการเป็นตัวแบบของความภาคภูมิใจในตนเอง เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่ต้องเกิดขึ้น
ซึ่งการอบรมสั่งสอนที่จะช่วยส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองให้กับลูกนั้น การเน้นเรื่องคุณธรรม และการทำสิ่งดีที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม รวมถึงการสอนลูกคิดบวกและมีทัศนคติในการดำเนินชีวิตที่ดี โดยเริ่มจากการฝึกให้สังเกตข้อดีของตนเองและผู้อื่น พร้อมทั้งรู้จักช่วยเหลือและเสียสละเพื่อส่วนรวม
ส่วนการเป็นตัวแบบของความภาคภูมิใจนั้น การที่ลูกเห็นตัวอย่างผ่านสถานการณ์จริง โดยผ่านตัวแบบพ่อแม่ที่มีส่วนสำคัญต่อความคิดและการกระทำของลูกมากที่สุด ทั้งนี้ พ่อแม่ยังสามารถเป็นตัวแบบในด้านคุณธรรม โดยการแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง พร้อมรับผิดและรู้จักขอโทษ รวมถึงแก้ไขสิ่งที่ได้ทำผิดนั้น หรือการเป็นตัวแบบในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแสดงให้ลูกเห็นถึงความมีวินัย และความรับผิดชอบในการดำเนินชีวิตของพ่อแม่ สอดคล้องกับทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคมของ Bandura ที่มีแนวคิดที่ว่าการเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากเป็นการเรียนรู้โดยการสังเกตหรือเลียนแบบจากตัวแบบ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาศัยการสังเกตพฤติกรรมจากตัวแบบ การสังเกตการตอบสนองและปฏิกิริยาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของตัวแบบ ผลการกระทำ การบอกเล่าและความน่าเชื่อถือของตัวแบบ
ดังนั้น พ่อแม่อาจเริ่มปรับที่การพูดคุย การตอบข้อสงสัยต่าง ๆ การแสดงตัวอย่างในการทำบางสิ่งบางอย่าง หรือแม้แต่การสอนให้ลูกรู้จักกล่าวขอโทษหรือขอบคุณ โดยมีตัวแบบมาจากพ่อแม่ หรือคนใกล้ตัว ที่แสดงให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง เด็กก็จะมีกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาตนเอง ก่อให้เกิดทัศนคติเชิงบวกและปรับพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม
การทำกิจกรรมร่วมกันกับสมาชิกในครอบครัว และผู้อื่น
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ การเที่ยวในวันหยุด หรือการพาลูกไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ อาจเป็นกิจกรรมที่พ่อแม่ส่วนใหญ่มักจะเลือกเป็นวิธีที่ทำได้บ่อย เมื่อว่างจากภาระงานต่าง ๆ ซึ่งการที่พ่อแม่มีความยืดหยุ่นด้านเวลา ถือเป็นผลดีต่อลูกเพราะสามารถจัดสรรเวลา เพื่อวางแผนทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับลูก หรืออาจเป็นการกำหนดกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถทำร่วมกันในชีวิตประจำวัน ส่วนการทำกิจกรรมนอกบ้านนั้น เป็นการช่วยทำให้พ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกมากขึ้น เพราะนำไปสู่การพูดคุย และทำกิจกรรมด้วยกันมากขึ้น ถือว่าเป็นการสร้างคุณค่าของคนในครอบครัวร่วมกัน
นอกจากนี้ การพาลูกไปแนะนำให้รู้จักกับญาติพี่น้องคนอื่น ๆ หรือเล่าเรื่องราวของครอบครัวให้ลูกฟัง มีส่วนสำคัญที่ทำให้ลูกรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว
ทั้งนี้ การส่งเสริมการเห็นคุณค่าในตนเองให้กับลูก ไม่เพียงเป็นการบ่มเพาะภายในตัวบุคคลเท่านั้น ยังสามารถส่งเสริมคุณค่าในตนเองจากภายนอกได้ ซึ่งก็คือพ่อแม่ที่มีส่วนสำคัญในการบ่มเพาะให้แก่ลูก และส่งเสริมพัฒนาการทางจิตใจที่ดี เพื่อส่งผลให้ลูกมีบุคลิกภาพเชื่อมั่นในตนเอง มองเห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น เมื่อรู้สึกถึงคุณค่าในตนเองย่อมรู้สึกถึงความหวังในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมและประสบความสำเร็จ
ข้อมูลจาก :
วิชุดา ศรีราชา และวรวรรณ เหมชะญาติ. (2563). กลยุทธ์ของผู้ปกครองในการเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กวัยอนุบาลโรงเรียนอนุบาลถักทอรัก [บทความวารสารมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัยฯ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย]. วารสารอิเล็กทรอนิกส์ทางการศึกษา (OJED). https://so01.tci-thaijo.org/index.php/OJED/article/view/242930
วิชุวดี สุริยวงศ์. (2562). การพัฒนาแนวทางการเสริมสร้างการนับถือตนเองของนักเรียนโรงเรียนฟ้าใสวิทยาสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ[วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม].คลังข้อมูลวิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.http://202.28.34.124/dspace/handle/123456789/320?mode=full
Coopersmith, S. (1984). The Antecedents of Self-esteem. San Francisco: W. H. Freeman and Company
ภาพประกอบ : Canva