- admin
- No Comments
บทความนี้เรามาทำความรู้จักกับ การฝึกสติ (Mindfulness) กันค่ะ คืออะไรกันนะ และจะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้อย่างไร….
การฝึกสติ เป็นแนวทางการฝึกฝนอีกหนึ่งแนวทางที่กำลังเป็นที่สนใจในระดับสากลในการช่วยฝึกฝนให้บุคคลจัดการสภาวะต่าง ๆ ของตนเองได้ดีขึ้น เช่น ความเครียด อารมณ์เศร้า ความวิตกกังวล รวมไปถึงการป้องกันไม่ให้บุคคลเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมาธิสั้นได้
แล้ว การฝึกสติ (Mindfulness) คืออะไรล่ะ ??
คือ การฝึกให้บุคคลอยู่กับปัจจุบันขณะ รู้เท่าทันพฤติกรรม และอารมณ์ของตนเอง มองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ตัดสิน เป็นการฝึกที่อาจให้ผลลัพธ์ที่ดีต่อบุคคลที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคสมาธิสั้น เช่น การอยู่ไม่นิ่ง การไม่มีสมาธิจดจ่อ และการควบคุมตนเอง
จากผลการศึกษาพบว่า การฝึกสติช่วยลดพฤติกรรมเกเรของวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงต่ออาการสมาธิสั้นได้ แต่อาจจะไม่ช่วยลดอาการสมาธิสั้นได้ เนื่องจาก โรคสมาธิสั้นเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งยังมีปัจจัยด้านพันธุกรรมที่เป็นสาเหตุหลัก รวมถึงปัจจัยด้านการเลี้ยงดู ที่มีส่วนทำให้อาการของโรคสมาธิสั้นเป็นมากขึ้นหรือน้อยลงได้ ดังนั้น การฝึกสติให้กับเด็กเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยป้องกันความเสี่ยงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ไม่มีสมาธิ ควบคุมพฤติกรรมของตนเองไม่ได้ อาการอยู่ไม่นิ่ง เป็นต้น
เด็กสามารถฝึกสติได้ด้วยกิจกรรมอะไรได้บ้าง ??
จะเห็นได้ว่าการฝึกสติให้กับเด็กนั้น อาจจะเป็นเรื่องยาก และการใช้วิธีการนั่งสมาธินั้น อาจจะต้องมีการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ด้วยวัยที่กำลังเรียนรู้และชอบการเล่น จึงมีการศึกษาวิจัยมากมายที่จะมาช่วยฝึกสติให้กับเด็กด้วยวิธีการที่หลากหลายมากขึ้น วันนี้ขอยกตัวอย่างกิจกรรมที่สามารถทำได้ทั้งที่บ้านและโรงเรียนกันค่ะ นั่นก็คือ “ บอร์ดเกม ” ผลการศึกษาพบว่าการฝึกสติร่วมกับบอร์ดเกมช่วยพัฒนาสมองด้านการยั้งคิด การควบคุมอารมณ์ และการยืดหยุ่น อีกทั้งภายหลังการทดลอง พบว่าเด็กมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ดื้อ ต่อต้าน ลดลง
นอกจากบอร์ดเกมแล้ว ยังมีกิจกรรมอีกมากมายเลยค่ะ ที่จะช่วยป้องกันพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ก่อให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้ การฝึกสติไม่เพียงแต่ฝึกให้กับเด็กเท่านั้น แต่การฝึกสตินั้นก็ยังสำคัญในวัยผู้ใหญ่เช่นกัน ที่จะช่วยลดภาวะทางสุขภาพจิตอื่น ๆ ได้เช่นกัน
ข้อมูลจาก :
ศศิ กฤษณะพันธ์, ชาญวิทย์ พรนภดล, ศุภโชค สิงหกันต์ และ วัลลภ อัจสริยะสิงห์. (2564). การศึกษานำร่อง: ประสิทธิผลของโปรแกรมการฝึกสติต่อการลดอาการสมาธิสั้นของวัยรุ่นอายุ 12-15 ปี ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมาธิสั้น [บทความวารสารภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, มหาวิทยาลัยมหิดล]. เชียงใหม่เวชสาร. https://cmudc.library.cmu.ac.th/frontend/Info/item/dc:158435
ศิวะพร ทองล้น. (2565). ผลของโปรแกรมฝึกสติร่วมกับบอร์ดเกมเพื่อพัฒนาหน้าที่บริหารจัดการของสมอง และลดภาวะสมาธิสั้นในเด็กสมาธิสั้น [บทความวารสารมหาบัณฑิต สาขาสมอง จิตใจและการเรียนรู้ คณะศึกษาศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา]. วารสารวิจัยและพัฒนาการศึกษาพิเศษ. https://ejournals.swu.ac.th/index.php/rise/article/view/15137/12294
ภาพประกอบ : Canva